กรมการจัดหางาน ปัญหาว่างงาน ไร้กังวล พร้อมให้บริการบัณฑิตจบใหม่หลายช่องทาง

กรมการจัดหางาน ปัญหาว่างงาน ไร้กังวล พร้อมให้บริการบัณฑิตจบใหม่หลายช่องทาง

กรมการจัดหางาน แจงสถานการณ์การว่างงานไม่น่าห่วง เพราะมีอัตราลดลงทั้งจากเดือนที่แล้ว และช่วงเดียวกันของปีก่อน ระบุอายุ 20-24 ปี เป็นช่วงที่มีผู้ว่างงานมากที่สุด ซึ่งเป็นกลุ่มที่เพิ่งจบการศึกษา และเป็นการลาออกจากงานมากที่สุด พร้อมย้ำ ภาครัฐให้บริการรับสมัครงานหลากหลายช่องทาง

นางเพชรรัตน์ สินอวย รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการจัดหางานกล่าวว่า กระทรวงแรงงาน โดยท่าน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ไม่ได้นิ่งนอนใจ ถึงแม้จะพบว่า สถานการณ์การว่างงานไม่ได้เป็นที่น่ากังวล โดยได้สั่งการให้กรมการจัดหางานวางแนวทางช่วยเหลือให้ผู้ว่างงานหลายช่องทางทั้งศูนย์ที่นี่มีงานทำ (Job Ready Center) ที่ตั้งขึ้นเพื่อหางานให้กับผู้จบปริญญาตรี พร้อมทั้งให้คำปรึกษา พัฒนาทักษะฝีมือ แนะแนวอาชีพ  และจับคู่ตำแหน่งงาน (Matching)  ซึ่งปัจจุบันเปิดให้บริการ 11 แห่งทั่วประเทศ คือ จังหวัดเชียงใหม่ พิษณุโลก พระนครศรีอยุธยา ปราจีนบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น ชลบุรี ระยอง สุราษฎร์ธานี สงขลา และกรุงเทพมหานคร หรือหางานผ่านทาง LINE JOBS ,Job fair, Mobile App รวมทั้งตู้งาน (Job Box) ที่ตั้งกระจายอยู่ทุกจุดทั่วประเทศ ได้เช่นกัน

นางเพชรรัตน์ฯ กล่าวเพิ่มเติมถึงอัตราการว่างงานในเดือนกันยายน 2561 ที่มีคนว่างงานประมาณ 3.73 แสนคน ว่า ปัญหาการว่างงานนั้นไม่ได้รุนแรง และน่ากังวล เพราะหากนำอัตราการว่างงานในเดือนกันยายน 2561 มาเปรียบเทียบกับอัตราการว่างงานในช่วงเดียวกันของปี 2560 จะพบว่ามีคนว่างงานลดลงประมาณ 7 หมื่นคน คือ จาก 4.43 แสนคน เป็น 3.73 แสนคน  และที่ช่วงต้นปี 2561 มีอัตราการว่างงานสูงในร้อยละ 1.3-1.2  ก่อนที่จะปรับตัวลดลงมาทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.0 นั้น หากพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่า การว่างงานในเดือนกันยายน 2561 จะเป็นผู้ที่ไม่เคยทำงานมาก่อน 1.78 แสนคน และเป็นผู้ที่เคยทำงานมาก่อน 1.95 แสนคน ซึ่งเป็นผู้ว่างงานที่มาจากภาคการผลิตมากที่สุด รองลงมาเป็นภาคบริการ และภาคเกษตร โดยเหตุผลของการว่างงานพบว่า เป็นการลาออกจากงานมากที่สุดประมาณ 1 แสนคน รองลงมาเป็นนายจ้างปิดกิจการ ประมาณ 3 หมื่นคน และหมดสัญญาจ้างประมาณ 2 หมื่นคน ดังนั้น จากข้อมูลเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาการว่างงานนั้นไม่ได้รุนแรง และน่ากังวล และเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนๆ จะพบว่า อัตราการว่างงานปี 2561 ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมามีแนวโน้มต่ำกว่าปี 2559 – 2560

สำหรับช่วงอายุที่มีผู้ว่างงานมากที่สุด คือ 20-24 ปี ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ผู้ว่างงานคือแรงงานกลุ่มที่เพิ่งจบการศึกษา โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษา โดยสาขาวิชาที่ว่างงานมากที่สุดคือพาณิชยศาสตร์ คิดเป็นร้อยละ 20.2 รองลงมา คือ ศึกษาศาสตร์ คิดเป็นร้อยละ 17.1 และสังคมศาสตร์ คิดเป็นร้อยละ 11.7 โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่พร้อมจะทำงานแต่เหตุผลที่ไม่หางานทำเพราะหางานมาแล้วแต่หาไม่ได้ ร้อยละ 79.1 รองลงมาคือ ไม่สามารถหางานที่เหมาะสมได้ร้อยละ 14.6 สะท้อนให้เห็นว่าผู้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีส่วนใหญ่ยังขาดคุณสมบัติตามที่ตลาดแรงงานต้องการ และส่วนหนึ่งว่างงานเพราะเลือกงาน ขณะที่ผู้ว่างงานในระดับปริญญาตรีอีกกลุ่มหนึ่งนั้น เป็นกลุ่มที่เคยทำงานมาก่อน จำนวน 22,525 คน หรือร้อยละ 19.59 ว่างงานมาแล้วโดยเฉลี่ย 1-2 เดือน หรือร้อยละ 29.14 โดยเคยทำงานในอาชีพเสมียนทั่วไปมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 13.69 รองลงมาคือ พนักงานขายในร้านค้า คิดเป็นร้อยละ 11.42 และผู้จัดการภัตตาคารและร้านอาหาร คิดเป็นร้อยละ 8.80 โดยสาเหตุที่ออกจากงานส่วนใหญ่มาจากการลาออกเอง คิดเป็นร้อยละ 59.45 รองลงมาคือ เลิก/หยุด/ปิดกิจการ คิดเป็นร้อยละ 8.97 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน นางเพชรรัตน์ฯ กล่าว

ไทย-เมียนมา ร่วมเปิดศูนย์แรกรับฯ จังหวัดระนอง รองรับนำเข้า MOU

ไทย-เมียนมา ร่วมเปิดศูนย์แรกรับฯ จังหวัดระนอง รองรับนำเข้า MOU

วันนี้ (23 กันยายน 2561) พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยนายเต็งส่วย (H.E.U Thein Swe) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตรวจคนเข้าเมือง และประชากร สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ร่วมเปิดศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้างจังหวัดระนอง เพื่อเป็นศูนย์ฯ รับแรงงานเมียนมาเข้าทำงานในภาคประมงทะเลเป็นการเฉพาะ  ระบุวันนี้มีแรงงานต่างด้าวในกิจการประมง นำเข้าตาม MOU จำนวน 67 ราย

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว กล่าวว่า  รัฐบาลไทย ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญในเรื่องของความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนในทุกกลุ่มอาชีพ และมีนโยบายในการบริหารที่มุ่งให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง ใช้ระบบเทคโนโลยีช่วยในการพัฒนา ก้าวสู่ประเทศ 4.0 โดยยึดถือแนวทางตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยในเรื่องของแรงงานต่างด้าว มีเป้าหมายที่จะให้แรงงานต่างด้าวในประเทศไทยเป็นแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย ได้รับความคุ้มครองภายใต้กฎหมายของไทย มีสิทธิสวัสดิการรายได้ที่เหมาะสม และเป็นธรรม

สำหรับการเปิดศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้างจังหวัดระนองในวันนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาแรงงานในภาคประมงทะเล ทั้งเรื่องของความต้องการแรงงาน และการคุ้มครองแรงงาน ซึ่งกระทรวงแรงงานได้ขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาโดยมีแนวทางการนำเข้าแรงงานต่างด้าวในระบบ MOU ทั้งนี้ ศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้างจังหวัดระนองแห่งนี้จะเป็นศูนย์ฯ รับแรงงานเมียนมา เข้าทำงานในภาคประมงทะเล เป็นการเฉพาะ สอดรับกับการหารือร่วมกันของไทย- เมียนมา ซึ่งจะส่งแรงงานเข้าทำงานทางเกาะสอง ของเมียนมา  อันจะเป็นประโยชน์ ในการลดขั้นตอน เกิดประสิทธิภาพของการจัดส่ง และรับแรงงาน ความสะดวกในการติดต่อสื่อสารของนายจ้าง ผู้ประกอบการ กับแรงงาน ในขั้นตอนต่างๆ  เป็นศูนย์ที่รองรับแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานอยู่ในประเทศไทยตามระบบ MOU โดยเป็นสถานที่อบรมให้ความรู้ด้านต่างๆ แก่แรงงานต่างด้าว เช่น การทำงาน กฎหมายต่าง ๆ การใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทย เป็นต้น ตรวจสอบและคัดกรองแรงงานต่างด้าวว่ามีนายจ้างจริงตรงตามสัญญาจ้าง และมีความพร้อมที่จะทำงานก่อนอนุญาตให้เข้ามาทำงานในประเทศไทย รวมทั้งประสานงานให้ความช่วยเหลือ และอำนวยความสะดวกแก่นายจ้างและแรงงานต่างด้าวเกี่ยวกับการดำเนินการให้เป็นไปตามสัญญาจ้าง ตั้งอยู่เลขที่ 89/227 หมู่ 1 ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดระนอง สามารถรองรับการให้บริการแรงงานต่างด้าวในการอบรม และออกใบอนุญาตทำงานแบบอิเล็กทรอนิกส์(E-WORKPERMIT) ประมาณ 1,200 คนต่อวัน บนเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่เศษ อยู่ใกล้ท่าเทียบเรือที่แรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมาใช้ในการเดินทางระหว่างจังหวัดเกาะสอง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และจังหวัดระนอง ประเทศไทย ประมาณ 1.5 กิโลเมตร ซึ่งระบบการทำงานของศูนย์แรกรับฯ นี้ จะเป็นรูปแบบของ ONE  STOP  SERVICE คือ  แรงงานเดินทางเข้ามาจะได้รับ 1) การตรวจลงตรา Visa  2) ลงทะเบียนประวัติแรงงาน 3) เข้ารับการอบรมตามแนวทางการทำงานในภาคประมงทะเล สิทธิสวัสดิการ  และ 4)ได้รับการอนุญาตทำงานจากกระทรวงแรงงาน  ซึ่งทำให้มีความพร้อมที่จะไปขอรับใบอนุญาตทำงานในภาคประมงทะเล (Sea Book)  จากกรมประมง นอกจากนี้ยังมีการใช้ระบบ IT เข้ามาช่วยในเรื่องของการติดตามนัดหมาย การยืนยันจำนวนแรงงาน เที่ยวเรือในแต่ละวัน เกิดความสะดวก รวดเร็ว ไม่มีแรงงานตกค้าง นายจ้างสามารถมารับแรงงานได้ตรงตามเวลานัดหมาย

รมว.แรงงาน กล่าวต่อว่า วันนี้มีแรงงานต่างด้าวในกิจการประมง นำเข้าตาม MOU จำนวน 67 ราย นายจ้าง  จำนวน 19 ราย เป็นนายจ้างจากจังหวัดชุมพร สมุทรสงคราม เพชรบุรี และสุราษฎร์ธานี และต้องขอบคุณนายเต็ง  ส่วย  รัฐมนตรีแรงงานฯ  และคณะ ที่ได้ขับเคลื่อนงานให้เกิดผลสำเร็จครั้งนี้ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และหวังเป็นอย่างยิ่งถึงเป้าหมายสำหรับผู้ประกอบการของไทยในความต้องการแรงงานเมียนมาภาคประมงทะเล อีกกว่า 42,000 คน จะได้รับการสนับสนุนให้เข้ามาทำงานอย่างต่อเนื่อง ต่อไป

กรมการจัดหางาน ปัญหาว่างงาน ไร้กังวล พร้อมให้บริการบัณฑิตจบใหม่หลายช่องทาง

‘บิ๊กอู๋’ จับมือภาคเอกชน ดูแลลูกแรงงานต่างด้าวทัดเทียมแรงงานไทย

วันที่ 10 กันยายน 2561 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบป้ายส่วนต่อเติมอาคารเรียนชั้นล่าง โรงเรียนวัดศิริมงคล อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ซึ่งเป็นโรงเรียนต้นแบบในการจัดการศึกษาสำหรับนักเรียนไร้สัญชาติไทย พร้อมย้ำนโยบายประชารัฐ เปิดโอกาสให้เรียนร่วมกับเด็กไทย สร้างความเสมอภาคเท่าเทียม ทั่วถึงและเป็นธรรมในสังคม เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของแรงงาน

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนให้ภาคเอกชนซึ่งเป็นนายจ้างหรือผู้ประกอบการที่จ้างแรงงานต่างด้าวให้การดูแลลูกจ้างแรงงานต่างด้าวอย่างเท่าเทียมกับแรงงานไทย ซึ่งการดูแลลูกๆ ของแรงงานต่างด้าว โดยให้พวกเขาได้มีโอกาสเข้าเรียนในโรงเรียนของไทยร่วมกับเด็กไทยนั้น ก็เป็นกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้แรงงานต่างด้าวและครอบครัว เป็นนโยบายประชารัฐ สำหรับการมอบป้ายส่วนต่อเติมห้องเรียนในวันนี้ เป็น “โครงการปันฝัน ปั้นยิ้ม” ซึ่งบริษัทเบทเตอร์เวย์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ร่วมกับเครื่องสำอาง “มิสทีน” ร่วมให้ความอนุเคราะห์สนับสนุนในการก่อสร้างส่วน  ต่อเติมอาคารเรียนชั้นล่าง จำนวน 3 ห้องเรียน ณ โรงเรียนวัดศิริมงคล อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ซึ่งเป็นโรงเรียนต้นแบบในการจัดการศึกษาสำหรับนักเรียนไร้สัญชาติไทย

โรงเรียนวัดศิริมงคล เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล-ประถมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียน 150 คน ข้าราชการครู 9 คน ครูอัตราจ้าง 3 คน ครูพี่เลี้ยงเด็กเมียนมา 1 คน และลูกจ้าง 1 คน เป็นโรงเรียนที่เปิดโอกาสให้นักเรียนที่ไม่มีทะเบียนราษฎร์หรือสัญชาติไทยเข้าเรียนร่วมกับเด็กไทย เด็กส่วนใหญ่มีสัญชาติเมียนมา มอญ กะเหรี่ยง  ไทยใหญ่ ที่ติดตามผู้ปกครองมาใช้แรงงานในภาคเกษตรหรือเรียกว่าเด็กชนเผ่า (เด็กชายขอบ) และอีกกลุ่มเป็นกลุ่มของลูกแรงงานต่างด้าว ซึ่งกลุ่มนี้มีจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่องและใช้ภาษาชาติพันธุ์ในการศึกษา ไม่มีพื้นฐานทางภาษาไทย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมด้านภาษาไทยให้กับเด็กก่อนที่จะเข้าไปเรียนร่วมกับเด็กไทยในชั้นปกติด้วยหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการเช่นเดียวกับโรงเรียนทั่วไป ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นแนวทาง “ประชารัฐ” ที่ภาครัฐได้ร่วมกับภาคเอกชนและภาคประชาสังคมในการดูแลครอบครัวแรงงานต่างด้าว ให้ได้รับการคุ้มครอง การปฏิบัติเช่นเดียวกับคนไทย เพื่อพวกเขาจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีความสุขตลอดระยะเวลาที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย

รมว.แรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า จังหวัดสมุทรสาคร มีแรงงานต่างด้าวที่ได้รับใบอนุญาตทำงาน จำนวน 277,898 คน แบ่งเป็น กลุ่ม BOI จำนวน 123 คน กลุ่มทั่วไป จำนวน 3,419 คน ชนกลุ่มน้อย จำนวน 5,794 คน กลุ่ม MOU จำนวน 80,855 คน กลุ่ม พิสูจน์สัญชาติ จำนวน 120,553 คน กลุ่มตามมติ ครม. 16 มกราคม 2561 ที่ได้รับการปรับปรุงทะเบียนประวัติ และตรวจลงตรา (VISA) และขออนุญาตทำงานถึง 31 มีนาคม 2561 ณ ศูนย์ OSS จำนวน 67,154 คน ส่วนกลุ่มตามมาตรา 83 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ ที่กำลังดำเนินการขยายระยะเวลาการทำงานออกไปอีก 2 ปี มีจำนวน 282 ราย ขณะนี้มาดำเนินการแล้ว 175 ราย และต้องขอขอบคุณภาคเอกชนเจ้าของสถานประกอบการที่ตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของลูกจ้างต่างด้าว ซึ่งจะเป็นต้นแบบตัวอย่างที่ดีให้กับภาคเอกชนอื่นๆ ต่อไป

กระทรวงแรงงานเปิดโอกาส ! ผู้รับงานไปทำที่บ้านกู้เงินกองทุนฯ สูงสุด 200,000 บาท

กระทรวงแรงงานเปิดโอกาส ! ผู้รับงานไปทำที่บ้านกู้เงินกองทุนฯ สูงสุด 200,000 บาท

กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดโอกาสให้ผู้รับงานไปทำที่บ้านกู้เงินจากกองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้าน โดยสามารถกู้ได้ทั้งแบบกลุ่มบุคคลและบุคคล แบบบุคคลวงเงินกู้ไม่เกิน 50,000 บาท กลุ่มบุคคลวงเงินกู้ ไม่เกิน 200,000 บาท อัตราดอกเบี้ยต่ำ ร้อยละ 3 ต่อปี เผยปล่อยกู้ไปแล้วกว่า 300 กลุ่ม สร้างรายได้กว่า 119 ล้านบาท

นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กรมการจัดหางานได้ส่งเสริมอาชีพให้กับแรงงานนอกระบบ โดยส่งเสริมการรับงานไปทำที่บ้าน โดยให้ผู้ที่สนใจเป็นผู้รับงานได้มีการรวมกลุ่มกัน มีการบริหารจัดการกลุ่มให้เข้มแข็ง เพื่อประโยชน์ในการรับงานไปทำที่บ้านอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งลักษณะของการรับงานไปทำที่บ้านจะเป็นการจ้างงานรูปแบบหนึ่งที่ผู้จ้างงานได้ส่งงานให้ผู้รับงานไปทำที่บ้านเพื่อทำการผลิต ประกอบ บรรจุ ซ่อมหรือแปรรูปสิ่งของตามที่ได้ตกลงกับผู้จ้างงานในบ้านของตนเอง หรือสถานที่มิใช่สถานประกอบกิจการของผู้จ้างงาน และเมื่อทำเสร็จจะส่งคืนสิ่งของหรือผลิตภัณฑ์ให้กับผู้จ้างงาน โดยผู้รับงานไปทำที่บ้านจะต้องได้รับค่าตอบแทนจากผู้จ้างงาน ซึ่งลักษณะของงานที่รับไปทำที่บ้านจะเป็นงานที่ไม่ใช้เทคโนโลยีซับซ้อน เรียนรู้ง่าย ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ใช้แรงงานคนทำการผลิตมากกว่าเครื่องจักร เป็นการผลิตในครัวเรือนเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งการให้งานของผู้จ้างงานจะเป็นการตัดขั้นตอน บางขั้นตอน หรือชิ้นส่วนของงานบางชิ้นจากกระบวนการผลิตในสถานประกอบกิจการไปทำการผลิตหรือผลิตทั้งหมด  นอกจากนี้ยังสนับสนุนเงินกู้จากกองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้านอีกด้วย ซึ่งเป็นกองทุนหมุนเวียนเพื่อให้ผู้รับงานไปทำที่บ้านได้กู้ยืมไปซื้อวัตถุดิบ อุปกรณ์การผลิตหรือขยายการผลิต สร้างอาชีพ สร้างรายได้อย่างยั่งยืน โดยคุณสมบัติของผู้กู้เป็นผู้รับงานไปทำที่บ้านซึ่งมีทั้งแบบบุคคลและกลุ่มบุคคลที่จดทะเบียนไว้กับกรมการจัดหางาน มีผลการดำเนินการและมีรายได้จากการรับงานไปทำที่บ้านหรือมีหลักฐานการรับงานไปทำที่บ้านจากผู้จ้างงาน มีทรัพย์สินหรือเงินทุนไม่น้อยกว่า 5,000 บาท สำหรับกรณีบุคคล ส่วนกรณีแบบกลุ่มบุคคลจะต้องมีทรัพย์สินหรือเงินทุนในการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มรวมกันไม่น้อยกว่า 10,000 บาท มีวงเงินกู้สำหรับบุคคลไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลาชำระคืน 2 ปี และกลุ่มบุคคลมีวงเงินกู้ไม่เกิน 200,000 บาท ระยะเวลาชำระคืน 4 ปี กรณีกู้ 50,000-100,000 บาท ชำระคืน 5 ปี วงเงินกู้ 100,001-200,000 บาท โดยมีอัตราดอกเบี้ยต่ำร้อยละ 3 ต่อปี และมีระยะเวลาพักชำระหนี้เงินต้นไม่เกิน 4 เดือน

นายอนุรักษ์ฯ กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีกลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้านที่จดทะเบียนกับกรมการจัดหางานแล้วจำนวน 723 กลุ่ม สมาชิกจำนวน 5,118 คน ปล่อยกู้เงินกองทุนฯแล้ว จำนวน 372 กลุ่ม เป็นเงิน 35,036,000 บาท สร้างรายได้ให้กับผู้รับงานไปทำที่บ้านไม่ต่ำกว่าปีละ 132,480,000 บาท หากผู้รับงานไปทำที่บ้านใดสนใจกู้เงิน สามารถยื่นคำร้องได้ที่สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 ในพื้นที่ที่กลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้านได้จดทะเบียนจัดตั้งกลุ่ม หรือที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด ในท้องที่ที่กลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้านได้จดทะเบียนจัดตั้งกลุ่ม สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

กรมการจัดหางาน ปัญหาว่างงาน ไร้กังวล พร้อมให้บริการบัณฑิตจบใหม่หลายช่องทาง

กรมการจัดหางาน เผยช่วง 7 เดือน จัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศแล้วกว่า 39,000 คน

กรมการจัดหางาน  เผยตัวเลขการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศ ช่วง 7 เดือนปี 2561 มีจำนวน39,926 คน โดยเดินทางไปไต้หวันมากสุด 12,608 คน ส่วนใหญ่ทำงานประเภทอุตสาหกรรม ก่อสร้าง และ คนงานทั่วไป

นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า กรมการจัดหางานมีภารกิจในการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ โดยส่งเสริมให้แรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศอย่างมีศักดิ์ศรีและมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยมุ่งส่งเสริมการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในประเทศที่มีศักยภาพ มีโอกาสได้รับการพัฒนาทักษะฝีมือ เพื่อนำกลับมาใช้ในประเทศโดยเฉพาะในสาขาที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพของประเทศ เช่น ไต้หวัน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี และอิสราเอล เป็นต้น ซึ่งการเดินทางไปทำงานต่างประเทศที่ถูกต้องมี 5 วิธี ได้แก่ 1.บริษัทจัดหางานจัดส่ง 2.กรมการจัดหางานจัดส่ง(รัฐจัดส่ง) 3.นายจ้างพาลูกจ้างไปทำงานต่างประเทศ 4.นายจ้างส่งลูกจ้างไปฝึกงานในต่างประเทศ 5.คนหางานเดินทางไปทำงานต่างประเทศด้วยตนเอง โดยในปี 2561 มีเป้าหมายจัดส่ง 40,000 คน ในกว่า 10 ประเทศ ซึ่งภาพรวมช่วง 7 เดือนปี 2561 (มกราคม – กรกฎาคม 2561) จัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศแล้ว จำนวน 39,926 คน คิดเป็น 99.81 % โดยจัดส่งไปทำงานไต้หวันมากที่สุด จำนวน 12,608 คน รองลงมาคือ สวีเดน ญี่ปุ่น  เกาหลี อิสราเอล ตามลำดับ ทำงานอุตสาหกรรม ก่อสร้าง และคนงานทั่วไป

อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวเพิ่มเติมว่า การไปทำงานในต่างประเทศต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขของกฎหมาย และต้องเดินทางไปทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งต้องศึกษาเงื่อนไขในสัญญาจ้างงานอย่างละเอียด โดยสัญญานั้นจะต้องผ่านการรับรองจากสำนักงานแรงงานไทยหรือสถานทูต/สถานกงสุลไทยประจำประเทศนั้นๆ ทั้งนี้ หากผู้ใดหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานหรือส่งไปฝึกงานต่างประเทศได้ มีความผิดตามกฎหมาย มีโทษจำคุก 3-10 ปี หรือปรับ 60,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งหากคนหางานมีข้อสงสัยในการไปทำงานต่างประเทศ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า