โดย admin | ก.ค. 26, 2023 | ข่าวสาร
นับถอยหลัง! ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวก่อนวันที่ 31 ก.ค.66 นี้
กรมการจัดหางานเปิดยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างคนต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ตามมติครม.วันที่ 5 กรกฎาคม 2566 ผ่านช่องทางออนไลน์ และสำนักงาน ย้ำนายจ้างต้องดำเนินการ ภายใน 31 กรกฎาคม 2566
นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน ดำเนินการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานมาอย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคธุรกิจยังคงปรากฏอยู่ เนื่องจากคนต่างด้าว ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 ที่ไม่ได้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตทำงาน ภายในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งมีจำนวนประมาณ 500,000 คน ปัจจุบันกลายเป็นคนต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งไม่สามารถอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานได้ ในขณะที่นายจ้าง/สถานประกอบการ มีความต้องการจ้างแรงงานเพิ่มมากขึ้น ซึ่งบางส่วนจำเป็นต้องจ้างงานคนต่างด้าวที่การอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุด หรือเข้าเมืองโดยไม่ถูกต้อง กระทรวงแรงงานจึงเสนอแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมายให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา เพื่อแก้ไขปัญหา
“คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 ให้คนต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมายอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษและสามารถทำงานกับนายจ้างไปพลางก่อนได้ โดยไม่ต้องมีใบอนุญาตทำงาน จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 โดยให้นายจ้างดำเนินการยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว พร้อมรูปถ่าย ต่อกรมการจัดหางาน ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่เว็บไซต์ e-workpermit.doe.go.th หรือ ณ สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว สำนักงานจัดหางานจังหวัด/สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ ภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2566” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว
นายไพโรจน์ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ประกาศกระทรวงมหาดไทยและประกาศกระทรวงแรงงานมีผลบังคับใช้แล้ว ขอให้นายจ้างดำเนินการได้ทันที เมื่อดำเนินการยื่นหลักฐานเอกสารครบถ้วน นายทะเบียนจะออกหลักฐานการยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวให้แก่นายจ้าง และให้คนต่างด้าวใช้บัญชีรายชื่อดังกล่าว เป็นหลักฐานแสดงว่าคนต่างด้าวได้รับการผ่อนผันให้ทำงานได้ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 หากนายจ้างติดปัญหาในขั้นตอนการยื่นบัญชีรายชื่อฯ หรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694
โดย admin | เม.ย. 27, 2021 | ข่าวสาร
บริษัท นำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศ จีเอ็มจี กรุ๊ฟ จำกัดได้ ได้ดำเนินการพาแรงงานต่างด้าว ตรวจสุขภาพ ตามขั้นตอนและมาตรการในพื้นที่จังหวัด สมุทรสาคร
โดย admin | ม.ค. 10, 2020 | ข่าวสาร
ขั้นตอนนำเข้าแรงงาน สัญชาติ ลาว
โดย admin | ก.ค. 10, 2019 | ข่าวสาร
คบต.เห็นชอบให้แรงงานต่างด้าวที่ใบอนุญาตจะหมดปี 62-63 นำเข้า MOU โดยไม่ต้องออกนอกประเทศ
ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (คบต.) เผยแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าว สัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา กลุ่มที่ใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) จะสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายน และ 1 พฤศจิกายน 2562 และวันที่ 31 มีนาคม 2563 และการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรยังไม่หมดอายุ ดำเนินการในลักษณะนำเข้าตาม MOU โดยไม่ต้องเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร โดยจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจ รายงานว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (คบต.) ครั้งที่ 1/2562 โดยมี นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน นางเพชรรัตน์ สินอวย อธิบดีกรมการจัดหางาน ผู้บริหารกระทรวงแรงงาน และตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
“พล.อ.ประวิตร” กล่าวภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุม คบต. ได้ร่วมกันพิจารณาแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าว ปี 2562-2563 โดยเสนอให้แรงงานต่างด้าว สัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา กลุ่มที่ใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) และการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรยังไม่หมดอายุ (ไม่รวมกลุ่มที่นำเข้าตามระบบ MOU) และกลุ่มที่ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางที่ยังมีอายุเหลืออยู่ในวันที่ไปยื่นขออนุญาตเพื่ออยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว สามารถดำเนินการในลักษณะนำเข้าตาม MOU โดยไม่ต้องเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร และอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรไม่เกิน 2 ปี โดยประทับตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร (ขออยู่ต่อ) ครั้งละไม่เกิน 1 ปี
ส่วนการอนุญาตทำงานจะอนุญาตไม่เกิน 2 ปี โดยแยกเป็น 2 ห้วงเวลา คือ 1) ใบอนุญาตทำงานหมดอายุก่อนวันที่ 31 มีนาคม 2563 อนุญาตให้ทำงานถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 2) ใบอนุญาตทำงานหมดอายุตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป อนุญาตให้ทำงานถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565
สำหรับแรงงานกลุ่มอื่นหรือแรงงานที่ไม่ประสงค์จะดำเนินการตามแนวทางนี้ เมื่อสิ้นสุดการอนุญาตทำงานแล้วต้องเดินทางกลับประเทศ หากประสงค์จะทำงานในประเทศไทยต้องเดินทางเข้ามาทำงานโดยถูกต้องตามกฎหมายตามระบบ MOU เท่านั้น
สำหรับระยะเวลาดำเนินการเพื่อขอรับใบอนุญาตทำงานและการขออยู่ต่อในราชอาณาจักรชั่วคราวจะเริ่มวันที่ 15 สิงหาคม 2562 หรือภายใน 15 วันนับตั้งแต่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการดำเนินการจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2563 โดยแรงงานต่างด้าวสามารถยื่นคำขออยู่ต่อในราชอาณาจักรกับพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองได้ก่อนระยะเวลาการอนุญาตสิ้นสุด 90 วัน ทั้งนี้ ให้ดำเนินการ ณ ที่ตั้งสำนักงานของแต่ละหน่วยงานเป็นหลัก และดำเนินการในลักษณะศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) โดยในกรุงเทพมหานครมอบหมายให้อธิบดีกรมการจัดหางานเป็นผู้พิจารณา ในส่วนภูมิภาคมอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้พิจารณา
ทั้งนี้ “พล.อ.ประวิตร” ได้มอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ ดำเนินการ ดังนี้ 1) ให้กระทรวงแรงงานนำแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าว ปี 2562-2563 ตามที่ได้เห็นชอบในวันนี้ เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ 2) ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องรับทราบและดำเนินการตามมติที่ประชุม 3)ให้กระทรวงแรงงานประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องตามกฎหมายให้นายจ้าง/สถานประกอบการ แรงงานต่างด้าวและประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการตระหนักรู้และรับผิดชอบร่วมกัน และ 4) ให้กระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตาม ตรวจสอบการทำงานของแรงงานต่างด้าวอย่างเข้มงวดต่อไป
“ขณะนี้ มีแรงงานต่างด้าว ที่จะต้องดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว จำนวน 2,056,467 คน แบ่งเป็น แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ กลุ่มที่การอนุญาตจะสิ้นสุดก่อนวันที่ 31 มีนาคม 2563 มีจำนวน 587,533 คน เป็นกลุ่มพิสูจน์สัญชาติเดิม จำนวน 575,493 คน กลุ่มประมงฯ มาตรา 83 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 จำนวน 12,040 คน และกลุ่มที่การอนุญาตจะสิ้นสุดตั้งแต่ วันที่ 31 มีนาคม 2563 มีจำนวน 1,468,934 คน โดยเป็นกลุ่มพิสูจน์สัญชาติเดิม จำนวน 281,777 คน และกลุ่มจัดทำ/ปรับปรุง ทะเบียนประวัติ จำนวน 1,187,157 คน”
ขอบคุณข่าวจาก https://www.prachachat.net/