โดย admin | ธ.ค. 15, 2018 | ข่าวสาร
เตือน คนหางาน ระวังถูกหลอกไปทำงานภาคเกษตรที่ แคนาดา กรมการจัดหางาน ประกาศเตือนคนหางานอย่าหลงเชื่อเฟสบุ๊คชักชวนให้ไปทำงานภาคเกษตรที่แคนาดา เนื่องจากแคนาดาไม่รับแรงงานต่างชาติประเภทไร้ทักษะเข้าทำงานแล้ว ย้ำระวังถูกหลอกเสียเงินฟรี และอาจต้องเสี่ยงภัยในต่างแดน
นางเพชรรัตน์ สินอวย อธิบดีกรมการจัดหางาน แจ้งว่า กรมการจัดหางานได้ตรวจพบเฟสบุ๊ครายหนึ่งที่อ้างว่าอยู่ในเมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา ซึ่งได้โพสต์ข้อความชักชวนคนงานไทยที่มีประสบการณ์ด้านการทำงานในภาคเกษตรและกำลังทำงานอยู่ในประเทศอิสราเอลให้ไปทำงานแบบถาวรกับบริษัทที่มีชื่อเสียงรายหนึ่งในประเทศแคนาดา โดยระบุให้ผู้สนใจกรอกแบบฟอร์มการประเมินผู้สมัครงานจากลิงค์ที่อยู่ด้านล่างของเฟสบุ๊คดังกล่าว จากนั้นให้คนงานรอการติดต่อกลับจากตัวแทน หรือให้โทรสอบถาม ซึ่งเป็นหมายเลขโทรศัพท์ที่ขึ้นต้นด้วยหมายเลข 050 ซึ่งน่าจะเป็นเบอร์โทรที่ใช้ในต่างประเทศ ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่าปัจจุบันประเทศแคนาดาไม่อนุญาตให้คนงานต่างชาติประเภทไร้ทักษะเข้าไปทำงานในประเทศแคนาดามานานแล้ว ทั้งยังยกเลิกการออกวีซ่าให้แก่คนงานต่างชาติที่จะเข้าไปทำงานภาคเกษตร ยกเว้นคนงานต่างชาติที่ทำงานเก็บหนอนในฟาร์มเกษตรในประเทศแคนาดาอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้น การที่มีผู้กล่าวอ้างว่าสามารถช่วยเหลือให้เข้าไปทำงานภาคเกษตรแบบถาวรได้ จึงไม่น่าจะเป็นความจริงแต่อย่างใด
นางเพชรรัตน์ฯ กล่าวย้ำเตือนคนหางานและแรงงานไทยในอิสราเอล ว่า อย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้างหลอกว่าสามารถช่วยให้ไปทำงานประเภทไร้ทักษะในประเทศแคนาดาได้ เพราะอาจต้องสูญเสียทรัพย์สินและตกระกำลำบากอยู่ในต่างแดน อย่างไรก็ตาม หากประสงค์จะไปทำงานต่างประเทศ ขอให้คิดอย่างรอบคอบ คำนึงถึงความคุ้มค่า และต้องไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย โดยตรวจสอบข้อมูลของบริษัทก่อนตัดสินใจสมัครงาน สอบถามข้อมูลหรือแจ้งเรื่องร้องทุกข์การหลอกลวงคนหางานได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน โทร. 0 2245 6763 หรือโทรสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน
ขอบคุณข้อมูลจาก :https://www.doe.go.th/
โดย admin | ธ.ค. 2, 2018 | ข่าวสาร
กนร. เห็นชอบเปิดศูนย์เก็บข้อมูลแรงงานชั่วคราวทางการเมียนมา ที่ สมุทรสาคร วันที่ 3 ธันวาคม 2561 เวลา 10.00 น. พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (กนร.) ครั้งที่ 2/2561 ณ ห้องประชุม ศ.นิคม จันทรวิทุร ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน โดยมี พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน นางเพชรรัตน์ สินอวย อธิบดีกรมการจัดหางาน ผู้บริหารกระทรวงแรงงาน และหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมประชุม อาทิ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นต้น
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (กนร.) ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบให้จัดตั้งศูนย์จัดเก็บข้อมูลแรงงานเมียนมาชั่วคราวของทางการเมียนมา ณ บริเวณตลาดทะเลไทย เพื่อจัดเก็บข้อมูลเฉพาะแรงงานเมียนมา ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 แรงงานเมียนมาที่ต้องการเปลี่ยนเอกสารประจำตัวเป็นหนังสือเดินทาง (กลุ่มที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติหรือจัดทำทะเบียนประวัติในประเทศไทยที่ถือหนังสือเดินทาง (Passport) หนังสือเดินทางชั่วคราว (Temporary Passport : TP) และเอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity : CI)) โดยทางการเมียนมาใช้คำว่า กลุ่มคน Function A และกลุ่มที่ 2 แรงงานเมียนมา ตาม MOU ที่ต้องการจัดทำเป็นหนังสือเดินทางฉบับใหม่ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกและลดขั้นตอนให้กับแรงงานเมียนมาที่ประสงค์จะกลับเข้ามาทำงานตาม MOU เมื่อวาระการจ้างงานครบ ๔ ปี แล้วโดยทางการเมียนมา ใช้คำว่ากลุ่มคน Function B โดยกลุ่มคนทั้งสองกลุ่มจะต้องยื่นเอกสารตามที่ทางการเมียนมากำหนด เมื่อผ่านการตรวจสอบแล้ว จึงจะสามารถขอรับหนังสือเดินทางได้ที่สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาประจำประเทศไทยหรือ ศูนย์ออกหนังสือเดินทางบริเวณชายแดนแม่สาย – ท่าขี้เหล็ก, แม่สอด – เมียวดี และระนอง – เกาะสอง โดยวัตถุประสงค์ของศูนย์ฯคือ การเก็บข้อมูลของแรงงานเมียนมาที่ขอหนังสือเดินทาง ซึ่งจะเปิดดำเนินการชั่วคราวเป็นระยะเวลา 1 ปี เปิดทำงานวันจันทร์ – วันเสาร์ เว้นวันอาทิตย์ และวันหยุดราชการไทยกำหนด ตั้งแต่เวลา ๑๐.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. หรือจนกว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ และจะไม่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายอื่นใดทั้งสิ้น
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้พิจารณาความเหมาะสมของประเทศต้นทางเพื่อกำหนดให้คนต่างด้าวที่มีสัญชาติของประเทศต้นทางเข้ามาทำงานกรรมกรในประเทศไทย โดยพิจารณาเห็นชอบให้คนต่างด้าวที่ประสงค์จะเข้ามาทำงานกรรมกรในประเทศไทยต้องเป็นคนต่างด้าวที่มีสัญชาติของประเทศคู่ภาคีที่รัฐบาลไทยได้ทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) หากปรากฏว่ามีกำลังแรงงานของคนต่างด้าวของประเทศคู่ภาคีไม่เพียงพอต่อความต้องการแล้ว เห็นควรให้มีการพิจารณาจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับประเทศที่เหมาะสมเพิ่มเติม ทั้งนี้ กระทรวงแรงงาน จะนำเรื่องการเปิดศูนย์เพื่อเก็บข้อมูลแรงงานชั่วคราวของทางการเมียนมา ณ จังหวัดสมุทรสาคร และมาตรการในการอนุญาตให้คนต่างด้าวที่ประสงค์จะเข้ามาทำงานกรรมกรในประเทศไทยเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป
พลเอก ประวิตรฯ กล่าวต่อว่า สำหรับความคืบหน้าการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมงทะเลนั้น ขณะนี้มีผลการนำเข้าแรงงานประมงตาม MOU จากประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา (ข้อมูล ณ วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๑) ดังนี้ 1. นายจ้างจำนวน ๑,๒๔๔ ราย ยื่นคำร้องขอนำเข้าแรงงานจำนวน ๑๔,๔๙๖ คน (เมียนมา ๘,๕๑๓ คน ลาว ๔๗๘ คน กัมพูชา ๕,๕๐๕ คน) 2. กระทรวงแรงงานจัดส่งเรื่องไปดำเนินการที่สถานทูต จำนวน ๙,๗๖๘ คน (เมียนมา ๔,๖๔๖ คน ลาว ๓๕๔ คน กัมพูชา ๔,๗๖๘ คน) 3. นายจ้างยื่นขอรับใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าวจำนวน ๑,๙๓๒ คน (เมียนมา ๘๗ คน ลาว ๖๗ คน กัมพูชา ๑,๗๗๘ คน) ขณะที่การดำเนินมาตรการเร่งด่วนชั่วคราวในการออกหนังสือคนประจำเรือตามกฎหมายว่าด้วยการประมง ซึ่งกรมประมงได้เปิดให้นายจ้างแจ้งความต้องการจ้างแรงงาน ตั้งแต่วันที่ ๑๕ – ๒๖ พฤศจิกายน 2561 ณ 22 จังหวัดชายทะเล มีผลการดำเนินการคือ นายจ้างมาแจ้งความต้องการ จำนวน ๗๕๔ ราย แจ้งความต้องการจ้างแรงงาน ๑๖,๓๕๑ คน
ขอบคุณข้อมูลจาก :https://www.doe.go.th/
โดย admin | พ.ย. 29, 2018 | ข่าวสาร
นายกฯ ประยุทธ์ มอบ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน เชิญหน่วยงานเกี่ยวข้องประชุมหารือ เร่งช่วยเหลือแรงงานไทยในอิสราเอล จัดทีมแพทย์พยาบาล จำนวน 11 คน ลงพื้นที่ตรวจสุขภาพแรงงาน ตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงจากภาวะใหลตาย ตั้งแต่ 27 พ.ย. – 1 ธ.ค. 2561 พร้อมจ่อลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมแรงงานไทยในอิสราเอลอย่างใกล้ชิดด้วยตนเอง เร็วๆ นี้
วันนี้ (28 พฤศจิกายน 2561) ที่ห้องประชุมศ. นิคม ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากกรณีที่ปรากฏเป็นข่าวว่า แรงงานไทยในอิสราเอลถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกละเมิดสิทธิ์ และได้รับค่าตอบแทนต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด อีกทั้งสภาพการทำงานยังไม่ตรงตามสัญญา และมีสภาพที่อยู่อาศัยไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา แรงงานไทยในอิสราเอลเสียชีวิตกว่า 170 คนนั้น เกี่ยวกับเรื่องนี้ รัฐบาลนำโดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มิได้นิ่งนอนใจ ทั้งยังมีความห่วงใยเป็นอย่างมาก โดยได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงานติดตามสถานการณ์ตลอด และเร่งช่วยเหลือทันที ซึ่งในวันนี้ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานประกันสังคม สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ร่วมประชุมหารือแนวทางช่วยเหลือ โดยขณะนี้ได้สั่งการให้อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ประจำสำนักงานแรงงานในประเทศอิสราเอล (กรุงเทลอาวีฟ) นำคณะแพทย์และพยาบาลจากกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จำนวน 11 คน ลงพื้นที่ตรวจสุขภาพทั่วไป ตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงจากภาวะใหลตายด้วยเครื่องตรวจคลื่นหัวใจ EKG และลงพื้นที่ที่มีประวัติแรงงานใหลตาย โดยเน้นหนักไปที่การศึกษาและประเมินสภาพการทำงาน สภาพความเป็นอยู่ เพื่อศึกษาและประเมินหาปัจจัยบ่งชี้ของสาเหตุการใหลตายให้กับแรงงานไทยในอิสราเอล ช่วงระหว่างวันที่ 27 พฤศจิกายน ถึง 1 ธันวาคม 2561 และสั่งกำชับให้ลงพื้นที่ติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อตรวจสอบหาข้อเท็จจริง และแก้ไขต่อไป โดยได้ประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับอัครราชทูตฯ มาอย่างต่อเนื่อง
รัฐบาลไทยโดยกระทรวงแรงงานได้ลงนามในข้อตกลงด้านแรงงานกับรัฐบาลอิสราเอล เรื่องการจ้างแรงงานไทยทำงานชั่วคราวในภาคเกษตรในรัฐอิสราเอลเมื่อปี 2555 ปัจจุบันมีแรงงานไทยไปทำงานในประเทศอิสราเอล จำนวนทั้งสิ้น 24,746 คน ระยะเวลาการจ้างครั้งละ 2 ปี และสามารถต่อสัญญาจ้างงานได้อีก 3 ปี 10 เดือน รวมแล้วไม่เกิน 5 ปี 10 เดือน ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในภาคเกษตร อัตราค่าจ้างขั้นต่ำในอิสราเอล เดือนละ 5,300 เชคเกลอิสราเอล หรือประมาณ 47,000 บาท ทั้งนี้ แรงงานไทยที่เข้าไปทำงานในอิสราเอลอย่างถูกต้องตามกฎหมายด้วยการจัดส่งโดยกรมการจัดหางาน จะผ่านกระบวนการคัดเลือก รวมถึงการตรวจสุขภาพว่ามีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรงพร้อมที่จะเดินทางไปทำงานภาคเกษตรในอิสราเอลหรือไม่
พล.ต.อ.อดุลย์ฯ กล่าวอีกว่า กระทรวงแรงงาน มีมาตรการในการติดตามคุ้มครองดูแลให้แรงงานไทยในอิสราเอลได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย ซึ่งจากกรณีค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้น ในปีที่ผ่านมา สามารถเรียกร้องเงินชดเชยให้แก่แรงงานไทยได้กว่า 47 ล้านบาท และในเร็วๆ นี้ รมว. แรงงานและคณะ จะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเข้าไปดูแลติดตามสถานการณ์ พบปะพูดคุยกับแรงงานไทย เพื่อรับทราบปัญหา และหาทางช่วยเหลือต่อไป อย่างไรก็ตาม หากแรงงานมีปัญหาเกิดขึ้น สามารถร้องเรียนขอความช่วยเหลือผ่านช่องทางฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่ให้ความช่วยเหลือแรงงานในอิสราเอล
ขอบคุณข้อมูลจาก :https://www.doe.go.th/
โดย admin | พ.ย. 24, 2018 | ข่าวสาร
ก.แรงงาน ตอบโจทย์ ไทยแลนด์ 4.0 ต่อยอดใบอนุญาตทำงานแบบดิจิทัล บนสมาร์ทโฟน ตั้งเป้า ปี ‘62 ใช้ทั่วประเทศ
กระทรวงแรงงาน จับมือ BOI และ ตรวจคนเข้าเมือง เตรียมขยายการให้บริการยื่นคำขออนุญาตทำงาน และออกใบอนุญาตทำงานผ่านระบบ Single Window for Visa and Work Permit สำหรับคน ต่างด้าวที่ทำงานในสถานประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน (BOI) บนสมาร์ทโฟน อำนวยความสะดวกในการยื่นขออนุญาตทำงาน ลดขั้นตอน ลดเวลาการยื่นเอกสาร ลดเจ้าหน้าที่ ลดเอกสาร และโปร่งใส บนโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน ในพื้นที่ EEC รองรับการลงทุนและการขยายตัวทางเศรษฐกิจในพื้นที่ พร้อมขยายการบริการครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ ภายในปี 2562 เป้าหมายแรงงานกว่า 45,000 คน
วันที่ 21 พ.ย.61 ที่ห้องประชุม จอมพล ป.พิบูลสงคราม พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงนายจ้าง/สถานประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนเรื่องการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว โดยมี นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน นางเพชรรัตน์ สินอวย รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการจัดหางาน ผู้บริหารกระทรวงแรงงาน จัดหางานจังหวัด ผอ.สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครเขตพื้นที่ และผู้แทนสถานประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ร่วมประชุมรับฟังการชี้แจง จำนวน 500 คน
พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเปิดการประชุมชี้แจงเกี่ยวกับการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวให้กับนายจ้าง/สถานประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนว่า รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (ปี 2560-2579) โดยวางแผนประเทศระยะยาว ภายใต้นโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” ที่มุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไปสู่เป้าหมาย “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงการยกระดับการให้บริการภาครัฐให้เกิดความเชื่อมโยง แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ลดการใช้เอกสารซ้ำซ้อน มุ่งสู่การเป็น Smart Thailand ในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อให้บริการแบบที่เดียว ทันใด ทั่วไทย ทั่วโลก ทุกเวลา
สำหรับการบริการจัดการแรงงานของภาครัฐนั้น กระทรวงแรงงาน ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีภารกิจรับผิดชอบการทำงานของแรงงาน ได้เตรียมแรงงานในอนาคตเพื่อรองรับและสอดคล้องกับความต้องการใช้แรงงาน และแนวทางของการพัฒนาประเทศ ซึ่งในปัจจุบันกำลังแรงงานมีความสำคัญต่อการพัฒนา และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะกำลังแรงงานที่เป็นคนต่างด้าว ซึ่งมีอยู่หลายกุล่ม เช่น คนต่างด้าวที่มีทักษะฝีมือ มีความเชี่ยวชาญ เป็นผู้ชำนาญการ นักลงทุน และคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานในราชอาณาจักรตามกฎหมายพิเศษเฉพาะ เช่น กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน กฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียม กฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น ในส่วนการทำงานของคนต่างด้าวในประเทศไทยนั้น ปัจจุบันบริหารจัดการภายใต้พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๖๐ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๑ ซึ่งพระราชกำหนดฉบับดังกล่าวได้ปรับเปลี่ยนแนวทางการขออนุญาตทำงานให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับข้อเท็จจริงในปัจจุบัน กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน ซึ่งมีหน้าที่ในการพิจารณาอนุญาตทำงานจึงต้องประชาสัมพันธ์ ชี้แจงข้อกฎหมาย และแนวทางปฏิบัติให้นายจ้าง ผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้องได้รับทราบ เพื่อทำได้ถูกต้องตามระเบียบที่กำหนด
นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานยังคำนึงถึงนโยบายของรัฐบาลในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่มาให้บริการและบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยยึดผู้ใช้บริการเป็นศูนย์กลาง ซึ่งปัจจุบันกรมการจัดหางานได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กำหนดกระบวนการยื่นคำขออนุญาตทำงาน และออกใบอนุญาตทำงานผ่านระบบ Single Window for Visa and Work Permit สำหรับคนต่างด้าวที่ทำงานในสถานประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกในการยื่นขออนุญาตทำงาน ลดขั้นตอน ลดเวลาการยื่นเอกสาร ลดเจ้าหน้าที่ ลดเอกสาร มีการพิจารณาที่เป็นมาตรฐานและโปร่งใส สำหรับใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวนั้น จะไม่เป็นเล่มเอกสารหรือบัตรแข็งอีกต่อไป แต่จะเป็นใบอนุญาตทำงานแบบดิจิตอล (Digital Work Permit) บนโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน ซึ่งสะดวกต่อการพกพา สามารถตรวจสอบได้ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ยากต่อการปลอมแปลง และไม่มีการสูญหาย โดยมีเป้าหมายเพื่ออำนวยความสะดวก รวดเร็ว โปร่งใส ตรวจสอบได้ รองรับ BOI และตอบโจทย์ “ไทยแลนด์ 4.0” มีขั้นตอนการทำงานคือ เมื่อคนต่างด้าวที่ยื่นคำขออนุญาตทำงานผ่านระบบ Single Window กรมการจัดหางานและ BOI จะพิจารณาอนุญาตในระบบและแจ้งผลการพิจารณาทาง E-mail เมื่อคนต่างด้าวได้รับการอนุญาตแล้วจะต้องมาแสดงตนเพื่อชำระค่าธรรมเนียม และถ่ายรูปลงลายมือชื่อ Digital เพื่อจะได้ Username และ Password เพื่อลงทะเบียนใน Application ชื่อ “Thailand Digital Work Permit” ใช้ได้ทั้งระบบ IOS และ Android ซึ่งเมื่อลงทะเบียนเรียบร้อยแล้วจะปรากฏ Digital Work Permit บนโทรศัพท์มือถือของคนต่างด้าว
ขณะนี้ศูนย์ให้บริการการอนุญาตอยู่ในราชอาณาจักร และการอนุญาตทำงานให้กับแรงงานในกลุ่ม BOI มี 3 แห่งคือ ที่กรุงเทพมหานคร (จามจุรีสแควร์) จ.เชียงใหม่ และภูเก็ต และได้มีแผนขยายการให้บริการระบบ Single Window ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ซึ่งประกอบไปด้วยจังหวัดระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา สนองนโยบายรัฐบาลมีนโยบายในการเร่งพัฒนาความพร้อมในทุกด้าน เพื่อรองรับการลงทุนและการขยายตัวทางเศรษฐกิจในพื้นที่ ทั้งด้านสาธารณูปโภค ระบบคมนาคมขนส่ง และโลจิสติกส์ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการอำนวยความสะดวกในรูปแบบ One Stop Service เพื่อสนับสนุนการประกอบธุรกิจให้มีความสะดวก รวดเร็ว และจะขยายการบริการครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ ภายในปี 2562 สามารถให้บริการแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในสถานประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ซึ่งมีอยู่ประมาณ 22,753 แห่ง แรงงานรวม 83,000 คน เป็นผู้เชี่ยวชาญ ชำนาญการประมาณ 45,000 คน และ กลุ่มแรงงานไร้ฝีมือ 3 สัญชาติ ประาณ 38,000 คน
พล.ต.อ.อดุลย์ฯ กล่าวขอบคุณผู้ประกอบการทุกท่านที่เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศมาโดยตลอด ขอบคุณสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ที่ได้ร่วมดำเนินการรับคำขออนุญาตทำงาน และออกใบอนุญาตทำงานผ่านระบบ Single Window for Visa and Work Permit และขอให้ผู้ประกอบการทุกท่านร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยให้ก้าวหน้าต่อไป เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นในด้านต่างๆ ให้กับนักลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะการจ้างคนต่างด้าวอย่างถูกกฎหมาย ซึ่งสามารถดำเนินการได้อย่าง สะดวก และรวดเร็ว
ขอบคุณข้อมูลจาก :https://www.doe.go.th/
โดย admin | พ.ย. 3, 2018 | ข่าวสาร
28 อาชีพที่แรงงานต่างด้าว ห้ามทำ มีอะไรบ้าง ลองดูกันเลย
โดยมี 28 อาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำเด็ดขาด ให้คนต่างด้วยทำได้ 12 อาชีพ 3 แบบ คือ แบบไม่มีเงื่อนไข 1 แบบ แบบมีเงื่อนไข 8 แบบ และและแบบมีเงื่อนไขตามข้อตกลงระหว่างประเทศอาเซียน 3 อาชีพ
โดยในส่วนงานขายของหน้าร้าน ต่างด้าวทำได้ แค่เสิร์ฟและช่วยขายของ แต่ห้ามเก็บหรือทอนเงิน เฝ้าร้านแทนนายจ้างได้แค่ชั่วคราวและต้องมีนายจ้างอยู่ด้วย
ส่วนร้านเสริมสวย ทั้งร้านตัดผม และทำเล็บ ต่างด้าวทำได้แค่ปัดกวาดเช็ดถูภายในร้านและล้างเท้า มือได้เท่านั้น ห้ามตัดผม สระผม ตัดเล็บ ทาเล็บเด็ดขาด