รัฐมนตรีเดินหน้าหารือกำหนดงานห้ามคนต่างด้าวทำ

รัฐมนตรีเดินหน้าหารือกำหนดงานห้ามคนต่างด้าวทำ

วันที่ 27 ธันวาคม 2561 ที่ห้องประชุม ศ.นิคม จันทรวิทูร อาคารกระทรวงแรงงาน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (คบต.) โดยมี นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน พ.ต.ต.หญิง รมยง สุรกิจบรรหาร รองปลัดกระทรวงแรงงาน นางเพชรรัตน์ สินอวย อธิบดีกรมการจัดหางาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม อาทิ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กระทรวงกลาโหม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ กรมประมง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า  กรมการปกครอง สำนักงบประมาณ กองบัญชาการทหารสูงสุด กองทัพบก กองทัพเรือ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เป็นต้น

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (คบต.) ว่า จากมติที่ประชุม คบต. เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2561 โดยกำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำไว้ 3 บัญชีคือ 1. งานที่ห้ามคนต่างด้าวทำโดยเด็ดขาด จำนวน 28 งาน (บัญชีที่ 1)   2. งานที่ห้ามคนต่างด้าวทำโดยมีเงื่อนไขให้คนต่างด้าวทำงานได้ตามข้อตกลงระหว่างประเทศ หรือพันธกรณีที่ประเทศไทยมีความผูกพันภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย จำนวน 3 งาน (บัญชีที่ 2) และ 3. งานที่ห้ามคนต่างด้าวทำโดยมีเงื่อนไขให้คนต่างด้าวทำงานนั้นได้ ก็แต่เฉพาะงานที่มีนายจ้าง จำนวน 8 งาน (บัญชีที่ 3) แต่ไม่ได้กำหนดให้งานกรรมกรเป็นงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ ทำให้นายจ้างหรือสถานประกอบการในประเทศสามารถรับคนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายจากทุกประเทศเข้ามาทำงานได้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ และไม่เป็นการสนับสนุนหรือส่งเสริมให้นายจ้างหรือสถานประกอบการเปลี่ยนวิธีการประกอบธุรกิจแบบดั้งเดิมซึ่งต้องพึ่งพาแรงงานคนไปสู่การบริหารจัดการ และนำเทคโนโลยีมาใช้แทนตามนโยบายของรัฐบาลไทยแลนด์ 4.0  การประชุมในวันนี้ เป็นการพิจารณาเพิ่มเติมเพื่อกำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำโดยมีเงื่อนไข โดยกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานได้เสนอคณะกรรมการฯ พิจารณากำหนดงานกรรมกรเป็นงานห้ามคนต่างด้าวทำโดยมีเงื่อนไข ให้คนต่างด้าวทำงานนั้นได้ก็แต่เฉพาะงานที่มีนายจ้าง และได้รับอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองภายใต้ข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงานระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งชาติอื่น โดยเพิ่มเติมเป็นบัญชีสี่ท้ายร่างประกาศกระทรวงแรงงาน ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการตามที่เสนอ และกำหนดจัดประชุมอีกภายใน 2 สัปดาห์

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ร่วมกันพิจารณาการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ซึ่งเป็นอำนาจของคณะกรรมการในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 22 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการ การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 โดยองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการมีจำนวน 33 คน มีอธิบดีกรมการจัดหางานเป็นประธานอนุกรรมการ ผู้อำนวยการสำนักบริหารแรงงานต่างด้าวเป็นอนุกรรมการและเลขานุการ ผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องอีก 28 หน่วยงาน มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณากลั่นกรอง และเสนอแนะแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวต่อคณะกรรมการ หรือตามที่คณะกรรมการมอบหมาย รมว.แรงงาน กล่าว

นายกฯ ประยุทธ์ มอบ รมว.อดุลย์ เร่งช่วยเหลือ แรงงานไทย ในอิสราเอล

นายกฯ ประยุทธ์ มอบ รมว.อดุลย์ เร่งช่วยเหลือ แรงงานไทย ในอิสราเอล

นายกฯ ประยุทธ์ มอบ  พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน เชิญหน่วยงานเกี่ยวข้องประชุมหารือ เร่งช่วยเหลือแรงงานไทยในอิสราเอล จัดทีมแพทย์พยาบาล จำนวน 11 คน ลงพื้นที่ตรวจสุขภาพแรงงาน  ตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงจากภาวะใหลตาย ตั้งแต่ 27 พ.ย. – 1 ธ.ค. 2561 พร้อมจ่อลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมแรงงานไทยในอิสราเอลอย่างใกล้ชิดด้วยตนเอง เร็วๆ นี้

วันนี้ (28 พฤศจิกายน 2561) ที่ห้องประชุมศ. นิคม  ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากกรณีที่ปรากฏเป็นข่าวว่า แรงงานไทยในอิสราเอลถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกละเมิดสิทธิ์ และได้รับค่าตอบแทนต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด อีกทั้งสภาพการทำงานยังไม่ตรงตามสัญญา และมีสภาพที่อยู่อาศัยไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา แรงงานไทยในอิสราเอลเสียชีวิตกว่า 170 คนนั้น เกี่ยวกับเรื่องนี้ รัฐบาลนำโดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มิได้นิ่งนอนใจ ทั้งยังมีความห่วงใยเป็นอย่างมาก โดยได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงานติดตามสถานการณ์ตลอด และเร่งช่วยเหลือทันที ซึ่งในวันนี้ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ กระทรวงสาธารณสุข  กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานประกันสังคม สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ร่วมประชุมหารือแนวทางช่วยเหลือ โดยขณะนี้ได้สั่งการให้อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ประจำสำนักงานแรงงานในประเทศอิสราเอล (กรุงเทลอาวีฟ) นำคณะแพทย์และพยาบาลจากกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จำนวน 11 คน ลงพื้นที่ตรวจสุขภาพทั่วไป ตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงจากภาวะใหลตายด้วยเครื่องตรวจคลื่นหัวใจ EKG และลงพื้นที่ที่มีประวัติแรงงานใหลตาย โดยเน้นหนักไปที่การศึกษาและประเมินสภาพการทำงาน สภาพความเป็นอยู่ เพื่อศึกษาและประเมินหาปัจจัยบ่งชี้ของสาเหตุการใหลตายให้กับแรงงานไทยในอิสราเอล ช่วงระหว่างวันที่ 27 พฤศจิกายน ถึง 1 ธันวาคม 2561 และสั่งกำชับให้ลงพื้นที่ติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อตรวจสอบหาข้อเท็จจริง และแก้ไขต่อไป  โดยได้ประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับอัครราชทูตฯ มาอย่างต่อเนื่อง

รัฐบาลไทยโดยกระทรวงแรงงานได้ลงนามในข้อตกลงด้านแรงงานกับรัฐบาลอิสราเอล เรื่องการจ้างแรงงานไทยทำงานชั่วคราวในภาคเกษตรในรัฐอิสราเอลเมื่อปี 2555 ปัจจุบันมีแรงงานไทยไปทำงานในประเทศอิสราเอล จำนวนทั้งสิ้น 24,746 คน ระยะเวลาการจ้างครั้งละ 2 ปี และสามารถต่อสัญญาจ้างงานได้อีก 3 ปี 10 เดือน รวมแล้วไม่เกิน 5 ปี 10 เดือน ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในภาคเกษตร อัตราค่าจ้างขั้นต่ำในอิสราเอล เดือนละ 5,300 เชคเกลอิสราเอล หรือประมาณ 47,000 บาท ทั้งนี้ แรงงานไทยที่เข้าไปทำงานในอิสราเอลอย่างถูกต้องตามกฎหมายด้วยการจัดส่งโดยกรมการจัดหางาน จะผ่านกระบวนการคัดเลือก รวมถึงการตรวจสุขภาพว่ามีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรงพร้อมที่จะเดินทางไปทำงานภาคเกษตรในอิสราเอลหรือไม่

พล.ต.อ.อดุลย์ฯ กล่าวอีกว่า กระทรวงแรงงาน มีมาตรการในการติดตามคุ้มครองดูแลให้แรงงานไทยในอิสราเอลได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย ซึ่งจากกรณีค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้น ในปีที่ผ่านมา สามารถเรียกร้องเงินชดเชยให้แก่แรงงานไทยได้กว่า 47 ล้านบาท และในเร็วๆ นี้ รมว. แรงงานและคณะ จะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเข้าไปดูแลติดตามสถานการณ์ พบปะพูดคุยกับแรงงานไทย เพื่อรับทราบปัญหา และหาทางช่วยเหลือต่อไป อย่างไรก็ตาม หากแรงงานมีปัญหาเกิดขึ้น สามารถร้องเรียนขอความช่วยเหลือผ่านช่องทางฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่ให้ความช่วยเหลือแรงงานในอิสราเอล

ขอบคุณข้อมูลจาก :https://www.doe.go.th/

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า